ผู้นำแต่ละคนมีจังหวะของความเร็วในการนำไม่เหมือนกัน ถ้าเราเร่งความเร็วในชีวิตมากเกินไป อาการ Burn-out หรือมลพิษทางอารมณ์จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันถ้าความเร็วของเราไม่สัมพันธ์กับทีมงานเราอาจจะกลายเป็นความกดดันให้เขาเกิดความเครียดในชีวิตได้เช่นเดียวกัน
การเข้าใจจังหวะของความเร็วของหัวใจของผู้นำและทีมงานเพื่อประสานพลังร่วมในจังหวะที่ถูกต้องเปรียบเสมือนวงดนตรีที่บรรเลงบทเพลงเข้ากับสไตล์และเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของวงดนตรี ผู้นำจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจบ่อเกิดของจังหวะ (Leadership Heartbeat) ใน 3 มิติอันได้แก่
1. Body
ผู้เขียนมีโอกาสพาทีมผู้บริหารทีมหนึ่งไปผจญภัยในโปรแกรม 3 วัน 2 คืนที่เรียกว่า Unlock Leadership and Team Potential ที่เทือกเขาบริเวณไร่ใจยิ้มที่กาญจนบุรี เมื่อผู้บริหารต้องเดินขึ้นเขาในช่วงเวลาหนึ่งจะเห็นการแตกกลุ่มของทีมผู้บริหารอย่างชัดเจน
คนที่มีจังหวะก้าวที่เร็วทั้งยังมีร่างกายที่แข็งแรงจะก้าวได้ยาวและทนนานจะเห็นว่ากลุ่มนี้จะเริ่มทิ้งห่างกลุ่มที่จังหวะในการก้าวที่สั้นและเดินช้ากว่า
ผู้บริหารท่านหนึ่งได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า "การเป็น CEO ในปัจจุบันจะต้องทำงานนานและต้องทำงานทนในสภาวะการเปลี่ยนแปลงที่สูงขึ้นกว่าเดิม ถ้าผู้นำไม่รู้จักความแข็งแกร่งและจังหวะการก้าวที่เป็นธรรมชาติของตัวเองและพยายามเร่งให้ทันในจังหวะของคนอื่นที่เร็วกว่าเรา สักพักเดียวเมื่อเดินขึ้นเขาจะเกิดอาการเหนื่อย หัวใจเต้นแรง หายใจไม่ทันและตะคริวกินจนเดินต่อไปไม่ไหว ถ้าในด้านการทำงานก็จะเกิดอาการที่เรียกว่า Burn-out Symdrome หรืออาการเหนื่อยล้าหมดแรง"
ผู้นำท่านนี้ได้เป็นพี่เลี้ยงให้ทีมงานที่ขึ้นเขาด้วยกัน ให้ทีมงานเฝ้ามองธรรมชาติของจังหวะการหายใจของตัวเองและพยายามจับจังหวะการเดินที่เป็นหนึ่งเดียวกับลมหายใจให้เจอ เมื่อทีมงานหลายคนจับจังหวะความเป็นหนึ่งเดียวได้ จะมีความรู้สึกว่าเดินอย่างเป็นหนึ่งเดียวกับตัวเองถึงเป้าหมายเร็วและไม่เหนื่อยเลย หรือในภาษาของนักกีฬาที่เป็นเทพทั้งหลายจะเรียกกันว่า White Zone นั่นคือโซนสีขาวที่สมาธิของร่างกายและจิตใจนั้นเป็นหนึ่งเดียวกัน
2. Brave heart
เมื่อเราจับจังหวะของร่างกายของเราได้แต่เมื่อหัวใจเรามีความกลัวเกิดขึ้น การเป็นหนึ่งเดียวจะเริ่มยากขึ้น ความกลัวความสูงเวลาขึ้นเขาเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ร่างกายเกิดความเครียด เกิดความเกร็งและระดับมลพิษที่เกิดขึ้นทางอารมณ์สูงขึ้นจะทำให้เกิดการใช้พลังงานสูงขึ้นและเหนื่อยง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ
ผู้เขียนมีโอกาสท้าทายผู้บริหารหลายท่านที่มีความแข็งแกร่งทางร่างกายแต่เมื่อต้องเดินบนเส้นเชือกในระดับความสูงที่ไม่คุ้นเคยจะเกิดอาการเกร็ง เกิดความเครียดและหมดพลังงานในการไปต่ออย่างง่ายดาย ในระดับความสูงที่ไม่มากผู้บริหารจะเดินได้อย่างสบายแต่เมื่อความสูงมากขึ้นความกลัวในความสูงที่เราไม่คุ้นเคยจะทำให้จังหวะการเดินเกิดการสะดุด
คุณวิทิตนันท์ โรจนพานิช คนไทยคนแรกที่ก้าวสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สำเร็จที่เป็นหนึ่งในทีมคณาจารย์ที่ให้คำปรึกษาที่ไร่ใจยิ้มในการก้าวข้ามความกลัวความสูงได้ให้คำแนะนำไว้อย่างน่าสนใจว่า "เมื่อเราเดินขึ้นภูเขาสูงเราจะเป็นโรคแพ้ความสูงได้ง่ายเมื่อเรามองแต่หุบเหวที่อยู่ข้างล่าง แต่เมื่อเราเปลี่ยนจุดสนใจใหม่มามองที่ความสวยงามของทางเดินและความสวยงามของธรรมชาติที่รายล้อมอยู่รอบตัวเรา ความสนุกและความเพลิดเพลินจะสร้างพลังบวกให้เกิดขึ้นในหัวใจและสร้างรอยยิ้มให้เกิดขึ้นในการเดินทางอย่างง่ายดาย"
3. Brain Preferences
เมื่อเรารู้จักจังหวะและการบริหารร่างกายและจิตใจของเราดี ถ้าเราสามารถผสมผสานแรงส่งจากต่อมสุขใจในสมองจะทำให้สารแห่งความสุขหรือที่เราเรียกว่าเอนดรอฟินนั้นหลั่งออกมาจะทำให้เรามีความรู้สึกละเมียดละไมกับการผจญภัยได้อย่างมีรอยยิ้ม
ผู้เขียนสังเกตเห็นผู้บริหารกลุ่มหนึ่งเริ่มมีอาการเหนื่อยล้าอย่างเห็นได้ชัดในการเดินทาง Trekking ขึ้นสู่ที่สูงของขุนเขา จึงได้มีโอกาสหยุดและให้ผู้บริหารกลับมาถามตัวเองว่าในธรรมชาติของป่าที่กำลังผจญภัยอยู่นี้มีต่อมสุขใจอะไรในตัวเราที่ยังไม่ได้ถูกนำออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่
ผู้บริหารท่านหนึ่งกล่าวว่า "ผมมีต่อมสุขใจเรื่องความคิดสร้างสรรค์และผมเป็นคนชอบถ่ายรูปในเชิง Creative Photography ในมุมมองที่ไม่เคยมีใครมองมาก่อน" เมื่อผู้บริหารท่านนี้ใช้ต่อมสุขใจตลอดการเดินทาง เน้นการถ่ายรูปแบบสร้างสรรค์ให้กับทีมงาน ทำให้พลังจากสารสุขสร้างความรื่นรมย์และรอยยิ้มตลอดทางไปสู่ยอดขุนเขา
ถ้าผู้นำสามารถค้นหาจังหวะที่สามารถประสานความเป็นหนึ่งเดียวระหว่าง 3B ก็คือ ร่างกาย (Body) หัวใจที่กล้าแกร่ง (Braveheart) และต่อมสุขใจในสมอง (Brain Preferences) ก็จะสามารถที่จะสร้างจังหวะก้าวเดิน (Leadership Hearbeat)ไปสู่ความสำเร็จอย่างมีความสุข
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,998
โดย อาจารย์กฤษณ์ รุยาพร E-mail : kris@e-apic.com, Mobile 081-617-7785
|