กระบวนการสะท้อนการเรียนรู้ในการพัฒนาภาวะผู้นำ (Leadership Reflection) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเปิดรับการพัฒนาและปรับปรุงเพื่อสร้างพิมพ์เขียวในการพัฒนาที่ถูกต้อง ปกติแล้วทุกๆ 5-7 ปี ผู้นำจะเริ่มติดกับดักความเก่งของตัวเองจากความสำเร็จและความเคยชินที่สะสมมาทำให้ไม่สามารถจะก้าวกระโดดทางวุฒิภาวะได้ ผู้นำต้องตระหนักถึงช่องว่างของความรู้และกระหายที่จะปิดช่องว่างนั้น ดังนั้นหน้าที่ของ Leadership Coach จะต้องสร้างกระบวนการและบรรยากาศในการสะท้อนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น ดั่งคำที่ว่า
เมื่อใช้ "กระจก" สะท้อน "ความรู้สึก" จากแววตา
เมื่อใช้ "คน" สะท้อน "บัญชีใจ" ที่เราฝากหรือถอน
เมื่อใช้ "กระบวนการค้นหาและปลดปล่อยอัจฉริยภาพ" สะท้อน "ศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน”ผู้นำที่ประสบความสำเร็จจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนความสามารถในการสะท้อนการเรียนรู้ได้ทั้ง 3 มิติ ก็คือ
1. กระจก สะท้อน ความรู้สึก
การบริหารการเปลี่ยนแปลงอารมณ์และความรู้สึกด้วยการเรียนรู้จากการส่องกระจกจะทำให้ผู้นำสามารถใช้ในการควบคุมและสร้างอารมณ์ในมิติต่างๆด้วยสติได้อย่างเท่าทัน ผู้เขียนได้เชิญอาจารย์ทางด้านการกำกับการแสดงมาสอนการสร้าง Build อารมณ์ให้กับผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็น อารมณ์ของความกลัว ความไม่เชื่อมั่น ความกล้า ความฮึกเหิม เพื่อให้ผู้บริหารมีสติเท่าทันการเปลี่ยนแปลงและสามารถเข้าใจและรู้จักธรรมชาติของอารมณ์ต่างๆ ของตัวเองตลอดจนอารมณ์ของคนที่อยู่รอบข้าง
ผู้บริหารท่าหนึ่งกล่าวหลังจากดูวิดีโอของสีหน้าของตัวเองในอารมณ์ต่างๆ ทำให้สามารถเข้าใจถึงธรรมชาติของอารมณ์และลักษณะของการแสดงสีหน้าค่าตาในอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อเขาเห็นหน้าที่ดุดันของความไม่ได้ดั่งใจของตัวเองทำให้มีสติในการเท่าทันอารมณ์ตัวเองทุกครั้งโดยเฉพาะเวลาที่อยู่ในห้องประชุม
2. คน สะท้อน บัญชีใจ
ทุกประสบการณ์ที่เรามีโอกาสมีสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง เราจะสร้าง "บัญชีใจ" ขึ้นมาเสมอ ถ้าเราแสดงพฤติกรรมที่เป็นบวกเช่น แคร์ความรู้สึก ชื่นชมคนอื่นด้วยความจริงใจ เราก็จะฝากความเป็นบวกไว้ในบัญชี แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราดูหมิ่น ไม่เคารพ หรือแทงข้างหลัง คนที่อยู่รอบข้างเราก็จะมีบัญชีใจที่เป็นลบ
ผู้เขียนเป็นที่ปรึกษาให้กับ CEO ในการเป็นลมใต้ปีกของลูกน้องเสมอ ด้วยการกล่าวชื่นชมพยายามเจียระไนความฝันและให้โอกาสทองเพื่อสร้างฝันให้เป็นจริง เมื่อเราไป survey บัญชีใจของลูกน้องก็สะท้อนออกมาให้เห็นถึงบัญชีที่เป็นบวก เกิดการสร้างความผูกพันและเป็นการสร้างบารมีไปในตัว
3. กระบวนค้นหาและปลดปล่อยอัจฉริยภาพ สะท้อน ศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน
การสร้างกระบวนการค้นหาและปลดปล่อยอัจฉริยภาพในตัวผู้นำจะเป็นการสร้างกระบวนการสะท้อนการเรียนรู้ด้วยข้อเท็จจริงจากแบบสอบถามความถนัดเชิงอัจฉริยภาพ หรือที่เรียกว่า Multi-Dimension Intelligence Profile (MIP) ซึ่งจะช่วยให้ผู้นำเห็นตัวตนของตัวเองทั้งในด้านอุปนิสัยพื้นฐาน ความชอบ ความเก่ง โอกาสในงานตลอดจนความสามารถในการบริหารอารมณ์ ด้วยข้อเท็จจริงในการวิเคราะห์นี้สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารตลอดจนสามารถนำไปสร้างพิมพ์เขียวในการพัฒนาภาวะผู้นำได้
องค์กรชั้นนำในระดับโลกได้นำเอา MIP ไปใช้ทุกครั้งที่มีการทำ Employee Appraisal หรือเมื่อประเมินผลพนักงานเพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารในการเข้าถึงศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในของพนักงานว่าเขารักและชอบในด้านใดและองค์กรสามารถให้โอกาสที่จะสะท้อนความสามารถได้อย่างดีที่สุดหรือยัง ผู้บริหารทุกคนจะต้อง Certify ในการวิเคราะห์ MIP เพื่อที่จะสามารถค้นหาและปลดปล่อยอัจฉริยภาพของทีมงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้บริหารสามารถเข้าถึงแก่นของศักยภาพของอุปนิสัยพื้นฐานก็สามารถปลดปล่อยความสามารถ พัฒนาทักษะให้ตลอดกับโอกาสทั้งยังเป็นการสร้างบัญชีใจที่เป็นบวกซึ่งสะท้อนถึงแววตาที่ลุกวาวของทีมงานที่สามารถมีโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาวุฒิภาวะของผู้นำอยู่ตลอดเวลา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,992
โดย อาจารย์กฤษณ์ รุยาพร E-mail : kris@e-apic.com, Mobile 081-617-7785