รากแก้วความสุข Grass Root of Authentic Happiness
[Date : 4 June 2022 ]
 
Talent iceberg of Leadership
[Date : 21 June 2022 ]
 
Unlock Leadership Potential(1)
[Date : 10 May 2022 ]
 
การสร้างอัจฉริยภาพให้กลายเป็นเอกลักษณ์ขององค์กรอย่างเป็นรูปธรรม
 

การสร้างอัจฉริยภาพให้กลายเป็นเอกลักษณ์ขององค์กรอย่างเป็นรูปธรรม


        เมื่อกระแสของการแข่งขันและกระแสของเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างผกผันและรวดเร็วการบริหารองค์กรที่อยู่บนความสามารถและอัจฉริยภาพที่แท้จริงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ในช่วงธุรกิจฟองสบู่นั้นเรามีเงินเราก็ซื้อสิ่งที่เราอยากจะเล่นมาลองได้หรือบางองค์กรที่เจ้าของกิจการมีเงินเหลือก็มักจะจ้างมืออาพมาขยายกิจการที่ตัวเองไม่เคยทำมาก่อนและมักจะไม่คิดถึงการสร้างความสามารถที่แท้จริงที่จะสามารถแข่งกับผู้เล่นในระดับโลกที่อยู่รอบตัวเรา เมื่อฟองสบู่แตกหลายองค์กรกลับมาถามตัวเองใหม่ว่าอะไรที่องค์กรเก่งจริง อะไรคืออัจฉริยภาพขององค์กรที่แท้จริงที่เป็นเอกลักษณ์ขององค์กร และจะสร้างจุดเด่นนี้ให้กลายเป็นความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างแท้จริงอย่างไร

อัจฉริยภาพที่โดดเด่นขององค์กร
        หลายองค์กรที่ประสบความสำเร็จขึ้นมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดกลางถึงบริษัทขนาดใหญ่มักจะเป็นความสำเร็จที่บางครั้งเป็นการเจริญติบโตที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนลืมถามตัวเองไปว่า เรามีความเก่งอะไรที่โดดเด่นกว่าคนอื่นและเป็นเอกลักษณ์ที่คนอื่นไม่สามารถเลียนแบบได้ ถ้าเป็นองค์กรที่มีเถ้าแก่เป็นศูนย์กลางของการบริหารปกติแล้วเคล็ดลับเหล่านั้นจะอยู่ในความสามารถและการตัดสินใจอันชาญฉลาดของเถ้าแก่เอง แต่มักจะไม่ได้ถ่ายทอดออกมาเป็นสิ่งที่จับต้องได้ และที่สำคัญก็คือเมื่อความสำเร็จอยู่ในสมองของเถ้าแก่ก็เป็นข้อจำกัดในการเจริญเติบโตและเถ้าแก่นั่นเองจะเป็นศูนย์กลางของความสำเร็จหาใช่คนในองค์กรไม่ เมื่อยุคฟองสบู่เกิดขึ้นเถ้าแก่หลายคนส่งทายาทและมืออาชีพไปบริหารเครือข่ายในองค์กรที่เกิดขึ้นโดยการเอาเงินไปกว้านซื้อเพื่อขยายกิจการไปในด้านต่างๆ แต่หาได้แตกแกนของอัจฉริยภาพในสมองของเถ้าแก่ไปยังผู้ที่สืบทอดเจตนารมย์ ดังนั้นการใช้เงินขยายกิจการหาได้เป็นความสำเร็จที่สร้างการได้เปรียบในการแข่งขันเพื่อต่อสู่กับคู่แข่งตัวจริงในโลกแห่งยุคโลกาภิวัฒน์ไม่
ผู้เขียนเองเคยเป็นที่ปรึกษาอยู่หลายองค์กรในการเป็นพื่เลี้ยงผู้ก่อตั้งที่ต้องการจะสร้างการเจริญเติบโตให้เกิดขึ้นด้วยการพัฒนามือรองขึ้นมา แต่ปกติแล้วมือรองมักจะได้รับคำสั่งในการปฏิบัติงานและมักจะไม่ได้คิดเองว่าควรจะทำอะไรดีนั่นคือการพัฒนาที่เกิดขึ้นจะเป็นการพัฒนาเพื่อที่จะเป็นผู้จัดการหรือ manager ที่ดีเท่านั้น มิใช่เป็นผู้นำหรือ Leader ที่ดีเพราะ manager มักจะเน้นถึง how ก็คือการปฏิบัติว่าทำอย่างไรถึงจะทำสิ่งที่ได้รับมาให้ดีที่สุด แต่ในขณะที่ leader จะตั้งคำถามว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะทำและทำอย่างไรนั่นคือ why what และก็ How
        ดังนั้นผู้ที่ก่อตั้งองค์กรจำเป็นที่จะต้องกลับมาวิเคราะห์ถึงประเด็นของอัจฉริยภาพขององค์กรว่าอะไรคือจุดเด่นที่เรามีและจะให้ทีมงานเข้าใจเพื่อจะต่อยอดธุรกิจจากจุดเด่นเหล่านั้นได้ด้วยวิธีอะไร หลายองค์กรที่ผู้เขียนไปช่วยวางวิสัยทัศน์ขององค์กรซึ่งผู้บริหารมักจะต้องการที่จะเป็นผู้นำหรือเป็นบริษัทที่น่ายกย่องแต่เมื่อถามลึกๆลงไปแล้วก็มักจะไม่แน่ใจว่านำทางด้านไหนและเราเก่งอะไรกันแน่ หรือที่ทำมามักเก่งจริงไหมหรือเนื่องจากฟองสบู่ ลูกค้าเลยผลักดันให้เราเติบโตขึ้นมา เมื่อมีการวิเคราะห์และค้นคว้าถึงพื้นฐานความสำเร็จที่องค์กรมีจะทำให้เราเห็นอัจฉริยภาพขององค์กรซึ่งจะนำพาไปสู่ความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริง
        องค์กรชั้นนำแห่งหนึ่งได้ให้ผู้เขียนเข้าไปทำสำรวจและวิเคราะห์พื้นฐานอัจฉริยภาพขององค์กรและต้องการให้ช่วยกระจายความคิดเหล่านั้นเพื่อสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่สามารถจะนำด้วยการต่อยอดจากอัจฉริยภาพที่องค์กรมี ผู้เขียนและทีมงานจึงมีโอกาสที่จะเข้าไปวางวิสัยทัศน์ว่าทีมผู้บริหารว่าอยากจะนำองค์กรไปที่ไหนกัน และอยู่บนพื้นฐานของความเก่งอะไรกันบ้าง ซึ่งในการวิเคราะห์นั้นก็พิจารณาถึงองค์ประกอบหลายประการนั่นก็คือการวิเคราะห์ความถนัดเชิงอัจฉริยภาพของทีมงานในองค์กร บางองค์กรจะเป็นนักคิดที่ดีแต่ไม่ใช่นักลุยเพราะฉะนั้นมักจะเป็นผู้ที่เก่งในการคิดค้นสินค้าบริการใหม่ๆและสร้างเครือข่ายกับผู้ที่จะไปขายตรง บ้างชอบขายและบริการแต่ไม่เก่งเรื่องการผลิตสินค้าใหม่ๆก็มักจะสร้างเครือข่ายในการขายและเน้นความสามารถในการวางระบบการขายโดยนำสินค้ามาจาก Innovator ต่างๆ เมื่อเราเข้าใจทีมงานและความสามารถที่ชอบและไม่ชอบก็จะมาประเมินความเก่งขององค์กรว่าองค์กรมีความสามารถในด้านใดบ้าง เช่นบางองค์กรสามารถสร้างความเชื่อมั่นในการสร้างกระบวนการที่มีประสิทธิ์ภาพด้วยความความเร็วของการบริการตลอดจนความถูกต้องเพื่อที่ลูกค้าสามารถไว้วางใจได้ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เป็นอัจฉริยภาพขององค์กรที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาและบ่มความดีขึ้นมา เมื่อผู้ก่อตั้งเห็นอัจฉริยภาพขององค์กรในด้านต่างๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างมือรองที่มีความสามารถเพื่อเข้ามาพัฒนาอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งโดยปกติความสามารถเหล่านี้มักจะเป็นความสามารถที่อยู่ในตัวของผู้ก่อตั้งเองมิได้แตกแกนลงมาให้ผู้เป็นมือรองสามารถรับช่วงต่อเพื่อพัฒนาเป็นระบบงานที่แข็งแกร่งและเป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาให้มันดียิ่งขึ้นไป

เปลี่ยนอัจฉริยภาพให้เป็น Strategic and operation thinking process
        เมื่อเราสามารถหาอัจฉริยภาพขององค์กรได้เจอจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจบทบาทการพัฒนาการซึ่งถ้าองค์กรที่จะต้องการขยายให้ใหญ่ขึ้นและต้องการที่จะสร้าง Build to last organization หรือองค์
        กรที่ยืนยงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างจิตสำนึกและความเข้าใจในอัจฉริยภาพและร่วมสร้างออกเป็นเอกลักษณ์ขององค์กรมิใช่เอกลักษร์ของผู้ก่อตั้งแต่ผู้เดียว แต่การจะทำอย่างนั้นได้จำเป็นที่ต้องสร้าง strategic thinking process หรือกระบวนการในการสร้างแนวคิดเชิงกลยุทธ์ที่ผู้บริหารระดับสูงในองค์กรจะต้องเข้าใจอัจฉริยภาพในทางเดียวกันและต้องหมั่นสร้างอัจฉริยภาพให้เฉียบคมขึ้นหรือต้องสามารถที่จะต่อยอดสินค้าและบริการที่จะสร้างขึ้นบนอัจฉริยภาพขององค์กรเพื่อสร้างเป็นเอกลักษณ์ขององค์กรขึ้นมา
สิ่งที่สำคัญอีกอย่างก็คือต้องสร้างมุมมองในการประสานความคิดเชิงกลยุทธ์ไปในทางเดียวกันเพราะถ้าการต่อยอดของอัจฉริยภาพไปในทางสวนกันแล้วละก็ในระยะยาวการจัดสรรปันส่วนของการใช้ทรัพยากรอาจจะสับสนหรือขัดกันเอง ถ้าองค์กรมีพื้นฐานของอัจฉริยภาพในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพที่มีโครงสร้างการผลิตที่เน้นความเร็วและสินค้าที่มีคุณภาพที่เป็นปริมาณ ถ้าสามารถที่จะทำการตลาดในกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการเดียวกันได้โดยมิจำเป็นต้อง customize จะทำให้การบริหารการผลิตสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันได้มากขึ้นนั่นก็คือถ้ามีปริมาณมากขึ้นและความหลากหลายน้อยราคาต้นทุนก็จะต่ำลง แต่ถ้าทางการตลาดมิได้เข้าใจถึงประเด็นตรงนี้จึงทำการขายไปยังกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายและรับปากลูกค้าที่มีความต้องการที่แตกต่างว่าผลิตอะไรก็ได้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสายงานการผลิตเก่าที่มีต้นทุนที่เป็นต่อรวมทั้งมีอัจฉริยภาพในการผลิตที่คงเส้นคงว่าและมีความชำนาญมากกว่าคนอื่น เมื่อกลุ่มการตลาดไม่ได้นำข้อได้เปรียบมาเป็นความคิดเชิงกลยุทธ์และไม่เข้าใจอัจฉริยภาพที่หลังบ้านมีอย่างแท้จริงทำให้ต้องเกิดการปรับโครงสร้างการผลิตอยู่เรื่อยการได้เปรียบที่เคยมีอาจจะหายไปได้ ดังนั้นการกระจายความคิดเชิงกลยุทธ์เพื่อให้ผู้บริหารเข้าใจอัจฉริยภาพที่เป็นเอกลักษณ์ขององค์กรนับเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพื่อที่จะให้เกิดการเพิ่มความเก่งในประเด็นที่ตัวเองมีอยู่แล้ว
เมื่อทุกคนเข้าใจความคิดเชิงกลยุทธ์แล้วจำเป็นที่จะต้องสร้างกระบวนการทำงานเชิงอัจฉริยภาพหรือ operation competencies เพื่อผู้ปฏิบัติงานจะเป็นเจ้าข้าวเจ้าของในการพัฒนาอัจฉริยภาพให้มีความชำนาญขึ้นไปอีก เมื่อองค์กรมีการขยายใหญ่ขึ้นและมีการปรับตัวบ่อยเมื่อไม่มีคนที่รับผิดชอบดูแลการปฎิบัติงานอย่างแท้จริงก็จะมีการละเลยและมิได้พัฒนาสิ่งที่เคยเก่งให้เก่งขึ้นไปอีกทำให้บางครั้งเราอาจจะเป็นแชมป์ระดับจังหวัดแต่มิได้มีการพัฒนาการไปในระดับประเทศหรือภูมิภาค เมื่อมีผู้เล่นระดับโลกเข้ามาสิ่งที่เรามีอยู่อาจจะเป็นมาตราฐานที่เราไม่สามารถแข่งขันได้อย่างแท้จริง ดังนั้นการต่อยอดความเก่งจากผู้ก่อตั้งเดิมให้การเป็นอัจฉริยภาพของมืออาชีพในระดับโลกเป็นความจำเป็นมากในการแข่งขันในปัจจุบัน
         เมื่อผู้บริหารในองค์กรตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างให้ทุกคนมีความสามารถในการสร้างความคิดบนอัจฉริยภาพขององค์กรในเชิงกลยุทธ์และในทางปฎิบัติแล้ว เราก็สามารถที่จะมีเป้าหมายในการนำพาองค์กรไปข้างหน้าด้วยกลยุทธ์ที่เด่นชัดที่มีพื้นฐานในการปฏิบัติบนอัจฉริยภาพที่เรามีอยู่ได้อย่างเต็มที่และเต็มกำลังซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการที่จะไม่สูญเสียเอกลักษณ์ของอัจฉริยภาพขององค์กรเองเมื่อองค์กรขยายไปในทิศทางที่กว้างไกลขึ้น


ถ้าผู้บริหารขององค์กรมีกระบวนการคิดเชิงกลยุทธ์อยู่ใน Quardrant ที่ IV นั่นก็คือไม่รู้ว่าจะไปทางไหนที่เด่นชัดและไม่รู้จักอัจฉริยภาพของตัวเองก็จะล่องลอยอยู่ในฟองสบู่นั่นก็คือลมเพลมพัดไปตามยถากรรม ในขณะที่ผู้บริหารใน Quadrant ที่ III จะรู้เป้าหมายว่าจะไปข้างหน้าแต่ไม่รู้อัจฉริยภาพของตัวเอง อาจจะไปข้างหน้าได้พักหนึ่งแต่การสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองจะไม่เกิดขึ้นเพราะการถมทางข้างหน้าอาจจะลงทุนเป็นเบี้ยหัวแตกที่มิได้สร้างบนอัจฉริยภาพของตัวเองและอาจจะหลงทางและสร้างบนพื้นฐานที่ตัวเองไม่ถนัดก็ได้ ในขณะที่ใน Quadrant ที่ II นั่นจะรู้จักตัวเองดีแต่อาจจะย่ำอยู่กับที่เพราะมิได้มีการพัฒนาการที่ต่อยอดไปในอนาคตที่ได้วางเป้าหมายไว้ สำหรับผู้บริหารใน Quadrant I นั้นจะรู้จักอัจฉริยภาพของตนเองและยังตั้งวิสัยทัศน์เพื่อสร้างเอลักษณ์ของตนเองบนพื้นฐานอัจฉริยภาพที่ตัวเองมีอยู่และแน่นอนที่สุดถ้าผู้บริหารระดับสูงรวมทั้งผู้ก่อตั้งสามารถที่จะมองเห็นแนวทางและความถนัดไปในทิศทางเดียวกันการสร้างเอกลักษณ์บนอัจฉริยภาพขององค์กรย่อมเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วยการเน้นแนวปฏิบัติเชิงรูปธรรมไปในทางเดียวกันซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างแท้จริง

สร้างการวัดผลเพื่อวัดการพัฒนาการเพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้เป็นรูปธรรม
         เมื่อองค์กรสามารถที่จะสร้างวิสัยทัศน์บนพื้นฐานแห่งอัจฉริยภาพจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ก่อตั้งหรือเถ้าแก่จำเป็นที่จำต้องสร้างการวัดผลเพื่อวัดความสามารถในการพัฒนาการที่มีจุดเน้นที่เด่นชัดซึ่งจากการที่ผู้เขียนเป็นพี่เลี้ยงของมืออาชีพที่เข้ามาบริหารในองค์กรที่มีเจ้าของนั่งเป็นประธานอยู่ข้างบนการสร้างการวัดผลจำเป็นที่จะต้องที่คงเส้นคงวาที่สามารถถ่ายทอดความมีอัจฉริยภาพในตัวของเถ้าแก่ให้ออกมาเป็นแกนวัดผลเชิงรูปธรรมที่มีมืออาชีพต่อยอดอยู่บนอัจฉริยภาพที่เถ้าแก่สร้างขึ้นมา เช่นถ้าองค์กรมีอัจฉริยภาพในการสร้างความเชื่อมั่นในการบริการและความรวดเร็ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างการวัดผลเพื่อให้แผนกบริการสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้มากกว่าที่เจ้าของทำได้เองและมีมืออาชีพมาเป็นคนที่รับผิดชอบในการสร้างการบริการที่ประทับใจที่มีความรวดเร็วที่ดีขึ้นและสามารถวัดผลเชิงเปรียบเทียบกับคู่แข่งในวงการเดียวกันได้ ในขณะเดียวกันนอกเหนือจากความเชื่อมั่นในการให้บริการแล้ว ถ้าต้นทุนในการผลิตที่ผู้ก่อตั้งเคยหาได้จาก network ของ supplier ที่เคยมีสายใยอยู่อาจจะสร้างความได้เปรียบในมาตราฐานหนึ่งแต่ถ้ามีคนมาคอยกำกับและหาลู่ทางในการลดต้นทุนอย่างเป็นรูปธรรมก็สามารถสร้างมาตราฐานใหม่ที่มุ่งเน้นในการหาสินค้าที่มีคุณภาพจากแหล่ง supplier จาก network  ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งทั้งสองกรณีเมื่อก่อนนั้นเจ้าของอาจจจะต้องทำเองทั้งสองทางแต่เมื่อแตกแกนในการมีผู้กำกับดูแลอัจฉิรยภาพที่กันช่วยกันดูแต่มุ่งไปในทิศทางเดียวกันก็สามารถจะสร้างแต้มต่อทางธุรกิจได้มากกว่า  ความยากลำบากอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนพบก็คือความละวางที่เจ้าของกิจการจะปล่อยให้มืออาชีพให้ตัดสินใจอย่างอิสระในแกนต่างๆ เพื่อเพิ่มพูลอัจฉริยภาพอย่างอิสระดังนั้นการสร้างการวัดผลและการประเมินผลจะต้องวางรูปแบบของการติดตามผลตามแนวคิดต้นแบบที่เจ้าของเคยใช้ในการประเมินผลทางธุรกิจที่เคยเป็นมาก่อนซึ่งสร้างความสำเร็จในอดีตและค่อยๆเสริมต่อยอดจากความคิดของมืออาชีพเพราะถ้าการวัดผลในเชิงเปรียบเทียบแนวใหม่ที่ผู้ก่อตั้งไม่คุ้นเคยก็จะทำให้การปล่อยวางหรือเชื่อใจมืออาชีพจะทำได้ยากขึ้น  ดังนั้นการสร้างอัจฉริยภาพให้กลายเป็นเอกลักษณ์ขององค์กรอย่างเป็นรูปธรรมจึงเป็นการประสานความต่างที่ผสมผสานอัจฉริยภาพของผู้ก่อตั้งพร้อมทั้งดึงเอาความเก่งในการวางกระบวนการพัฒนาการของมืออาชีพเพื่อยกระดับอัจฉริยภาพให้กลายเป็นเอกลักษณ์เพื่อก่อให้เกิดวัฒนธรรมที่ยืนยง

 
โดย อาจารย์กฤษณ์ รุยาพร  E-mail : kris@e-apic.com, Mobile 081-617-7785 
บทความได้รับการเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์


Home    l    About Us    l    Education Program    l    Consulting    l    Clients    l    Online Test
Books & Multi    l    Apic Leadership Review    l    Contact Us