รากแก้วความสุข Grass Root of Authentic Happiness
[Date : 4 June 2022 ]
 
Talent iceberg of Leadership
[Date : 21 June 2022 ]
 
Unlock Leadership Potential(1)
[Date : 10 May 2022 ]
 
กรอบความคิดในการพลิกผันวิกฤตให้เป็นโอกาส
 

กรอบความคิดในการพลิกผันวิกฤตให้เป็นโอกาส
 
 

การเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ในช่วงสภาวะผกผันที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้คงจะสร้างคำถามอยู่ในใจของพวกเราเพราะหลายคนคงจะพบกับความผกผันที่เกิดขึ้นในชีวิตจากการมีงานทำที่มีหน้าตา มีรถ มีบ้านที่สามารถผ่อนได้สบายๆ มีเงินมีทองใช้ กลับกลายมาเป็นไม่มีงานทำ ธนาคารก็ยึดบ้านและรถไป หรือธุรกิจที่หลายคนสร้างมากลับมือกลับต้องประกาศปิดกิจการไป คำถามเหล่านี้บางคนไม่สามารถหาคำตอบกับมันได้ทำให้เกิดความเครียดแต่ที่น่าสนใจว่าบางคนสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ เราคงจะมาดูเบื้องหลังว่าคนที่ประสบความสำเร็จมีกรอบความคิดเป็นตัวกำกับการเปลี่ยนแปลงที่ผกผันให้เกิดขึ้นได้อย่างไร
กรอบความความคิดจุดผกผันที่สำคัญ
        สิ่งที่สำคัญมากในการเปลี่ยนชีวิตคือกรอบความคิดในการมองชีวิตที่ประสานและสมดุลย์กับการเปลี่ยนแปลงที่อยู่รอบตัวเรา  สิ่งแรกที่ต้องทำในช่วงการเจอสภาวะวิกฤตก็คือมีสติหยุดคิดและหันกลับมามองตัวเราใหม่ว่าทำไมชีวิตของเราวันนี้ถึงมาอยู่ที่จุดๆ นี้ มีคนอยู่สองประเภทด้วยกันประเภทหนึ่งก็คือชีวิตของข้าข้ากำหนดกับอีกประเภทก็คือ ชีวิตนั้นลิขิตเองไม่ได้ขึ้นอยู่กลับโชคชะตาและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกำหนดตั้งแต่เกิดมาคุณพ่อคุณแม่ก็ให้พันธุ์กรรมที่ทำให้เรามีรูปร่างหน้าตาอย่างปัจจุบันนี้แล้วเราจะไปเลือกทางเดินได้อย่างไร บ้างก็บอกว่าผมไม่ใช่คนที่เกิดจากชาติตระกูลที่ดีและผมจะมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร หรือเมื่อเศรษฐกิจไม่ดีอย่าไปขนขวายดีกว่าเพราะทำไปก็สวนกระแส ผู้ที่คิดว่าชีวิตเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้และมีกรอบความคิดโดยปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม ชีวิตจะดีก็เมื่อภาวะเศรษฐกิจข้างนอกดี แต่ในทางกลับกันถ้าข้างนอกเลวร้ายเราก็อย่าไปพยายามทำอะไร งอมืองอเท้าไปตามกระแสคลื่นลมดีกว่า
     กรอบความคิดเป็นสิ่งที่คนเราสั่งสมประสบการณ์ในการมองโลกและสร้างเป็นเสมือนแว่นขยายที่ทำให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆตามกรอบที่เราสร้างขึ้นมา กรอบความคิดนี้เป็นสิ่งที่แยกระหว่างผู้ที่กล้าที่จะลิขิตชีวิตและมีความเป็นผู้นำ กับผู้ที่เมื่อเจอวิกฤตก็ยอมรับสภาวะกดดันที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้ต่อสู้หรือหาความคิดสร้างสรรค์ในการหาคำตอบให้ชีวิต ผู้เขียนเองเคยมีโอกาสไปทำการศึกษาและวิจัยร่วมกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า MIT ที่ Boston ถึงบันไดในการสร้างกรอบความคิดของคนเราว่ามีส่วนสำคัญมากในการกำกับพฤติกรรมของคนโดยเฉพาะการพัฒนาผู้นำให้มีการเปลี่ยนแปลงตัวเอง
จุดแรกที่สุดก็คือการพัฒนากรอบความคิดให้มีมุมมองในการมองชีวิตที่ถูกต้อง เมื่อเราสร้างกรอบความคิดของเราขึ้นมาเราก็จะเริ่มใช้กรอบความคิดในการกรองข้อมูลที่เราอยากจะมองจากพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่ทั่วไป ถ้าสังเกตุให้ดีเวลาเราอ่านหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับข่าวคราวที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา คนที่ยอมปล่อยให้ข่าวคราวต่างๆ นำพาความเศร้าให้เกิดขึ้นในจิตใจมักจะหมกมุ่นและสนใจกับข่าวคราวประเภทนั้นจนบางครั้งเราจะเห็นคราวข่าวการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น เพราะการกรองข้อมูลในความคิดเรามักจะตอกย้ำมุมมองของวิกฤตอยู่เสมอ
ในขณะที่ผู้ที่มองวิกฤตเป็นโอกาสมักจะหยุดคิดถึงมุมมองต่างๆของกระแสที่อยู่รอบตัวเราแม้เราจะตกงานแต่เราก็ไม่จำเป็นต้องเลือกเป็นคนตกงานเสมอไปเพราะยังมีทางเลือกต่างๆที่จะทำให้เราสามารถหาเลี้ยงชีพอยู่มากมายหลายทางแต่เมื่อเราไม่หยุดคิดกระแสความเครียดจะทำให้เราหาทางออกไม่เจอและอาจจะพัดพาเราให้ไปตามค่านิยมของสังคมที่นำพาเราไป  นักจิตวิทยาหลายคนเคยให้ความคิดเห็นว่าข่าวการฆ่าตัวตายเมื่อเกิดบ่อยขึ้นทำให้เกิดกรอบความคิดของทางออกของคนที่ปล่อยชีวิตไปตามกระแสสังคมคิดว่าการฆ่าตัวตายเป็นทางออกในการหลีกหนีวิกฤต


  


บันไดขั้นต่อมาดั่งในรูป 1.1 จากการกรองข้อมูลก็คือการให้ความหมายว่าข้อมูลเหล่านั้นมีความหมายว่าอย่างไร ถ้าเรามีความคิดว่าเราสามารถหาทางเลือกใหม่ให้กับตัวเองได้แม้เราจะตกงานเราก็มักจะมีมุมมองในการคิดสร้างสรรค์หาหนทางใหม่ๆและให้ความหมายของการพัฒนานั้นgเพื่อเป็นการหาช่องทางใหม่ให้กับตัวเอง
ถ้าเราสังเกตตัวอย่างเช่นคุณศิริวัฒน์เจ้าของศิริวัฒน์แซนวิชผู้พลิกผันตัวเองจากการเป็นนักธุรกิจอสังหาริมหรัพย์เมื่อยามธุรกิจที่ดินตกสะเก็ด คุณศิริวัฒน์เปลี่ยนกรอบความคิดมามองธุรกิจอาหารก็คือแซนวิซแทนที่จะเป็นในแนวพัฒนาที่ดินเหมือนเดิมและสร้างสรรค์ด้วยการหาความหมายใหม่ในความสำเร็จเพื่อเลี้ยงตัวเองและทีมงาน สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือการกล้าที่ก้าวไปหาประสบการณ์ใหม่เพื่อหาข้อสรุปและสร้างความเชื่อว่าสิ่งที่ฉันทำมันทำได้พร้อมทั้งสร้างกรอบความคิดใหม่ในการทำธุรกิจขึ้นมาใหม่
    ชีวิตนี้ข้าขอลิขิต
    ความต่างของกรอบความคิดระหว่างคนที่ปล่อยชีวิตไปตามยถากรรมกับคนที่มีมุมมองว่าไม่ว่าพื้นฐานของชีวิตเราจะเกิดมาอย่างไรแต่ผู้ที่จะสร้างความแตกต่างก็คือตัวเราเองที่จะหมั่นสร้างสมความดีความเก่งและใช้สิ่งเหล่านั้นเป็นตัวผลักดันชีวิตไปตามเป้าที่เราวางเอาไว้ไม่ว่าคลื่นลมจะมาส่งท้ายเราหรือไม่ ผู้ที่มีกรอบความคิดอย่างหลังมักจะผลักดันตัวเองให้เกิดการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งในทิศทางที่เขาเหล่านั้นเป็นผู้กำหนด ในสภาวะวิกฤตไม่ว่าจะเกิดขึ้นหลังสงครามโลกหรือช่วงสภาวะการถดถอยหรือชะงักงันของเศรษฐกิจมักจะเกิดการผกผันขึ้นเสมอนั่นก็คือคนที่สามารถจับกระแสทางของการเปลี่ยนแปลงได้มักจะเปลี่ยนสภาพกลายเป็นผู้นำและผู้ประสบความสำเร็จ ในขณะที่คนที่ไม่รู้จักพื้นฐานของเป้าหมายว่าจะไปไหนและไม่รู้จักความสามารถหรือ    ไหมฟ้าของตัวเองมักจะหลงทางและหาที่กลับไม่ได้
    ถ้าเปรียบเทียบการเดินทางในสภาวะปัจจุบันก็เสมือนการแล่นเรือใบในทะเล ในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ลมจะส่งท้ายทำให้เราสามารถแล่นเรือได้อย่างสบายโดยแทบไม่ต้องออกแรงของเราเลย แต่เมื่อพัดเปลี่ยนทิศทางและต้านแรงเรือที่กำลังแล่นไปทำให้ต้องกลับมาพิจารณาและวิเคราะห์ว่าเรายังต้องการไปในทิศทางเดิมหรือไม่ ถ้าเรารู้ว่าเราต้องการไปที่ใดเราก็คงต้องหาศิลปะในการขับเรือที่จะใช้ลมที่ต้านให้เป็นแรงส่ง ข้อที่น่าสังเกตก็คือหลายท่านที่ไม่รู้ว่ากำลังจะเดินทางไปไหนกันก็แล่นเรือไปตามกระแสลมที่พัดไป ถ้าเราไม่ลิขิตทางเดินของเราเองแน่นอนที่สุดลมก็จะพาไปในทิศทางที่เกิดขึ้นตามสิ่งแวดล้อมภายนอกซึ่งบางครั้งมันอาจจะพัดเราไปในที่ๆเราไม่อย่างไปหรือบางครั้งมันพัดเราไปเกยตื้นฝั่งหรือซัดกับโขดหินและอัปปางลง
    ถ้าเราสังเกตนักแล่นเรือใบที่เก่งเขาจะกำหนดเส้นทางการเดินเรืออย่างละเอียดเสมอก่อนที่จะออกเรือเพื่อที่จะสามารถตรวจสอบได้อย่างเสมอว่าเราไปในทิศทางที่ถูกต้องไหมและเมื่อแล่นเรือออกไปสามารถที่จะนำเอาเป้าหมายเหล่านั้นนำร่องให้ทุกคนในเรือที่มีหน้าที่ต่างๆกันสามารถที่จะประสานพลังของทุกคนเพื่อผลักดันให้เรือไปในทิศทางที่ถูกต้อง ถ้าเรายังไม่เด่นชัดในทิศทางไม่ว่าจะไปในทิศทางไหนเราก็ไม่สามารถจะบอกได้ว่าเรามาถึงจุดที่เราอย่างจะไปหรือเปล่าเพราะอาจจะยังไม่รู้เลยว่าเราได้มาถึงแล้วหรือยังและที่สำคัญไปกว่านั้นเมื่อมีโอกาสทองผ่านเข้ามาในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงเราอาาจะไม่สามารถรับรู้สัญญาณว่ามันเป็นโอกาสทองเพราะเราไม่มีเป้าประสงค์ในการใช้มันดุจดังนักแล่นเรือใบเก่งที่สามารถใช้กระแสลมที่ปรับเปลี่ยนมาเป็นแรงลมที่เสริมท้ายได้อยู่เสมอ
    ผู้ที่ประสบความสำเร็จมักจะมีกรอบความคิดในการกำหนดมุมมองในทิศทางที่จะไปแม้ลมจะไม่เป็นไปตามที่เขาวางไว้แต่เขาสามารถจะเดินเรือสลับฟันปลาในการใช้กระแสลมมาช่วยแม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ก็ยังดีกว่าไปตามยถากรรมตลอดจนการใช้เป้าหมายซึ่งเปรียบเสมือนดาวเหนือของชีวิตเป็นตัวกำกับการเดินทาง
วิกฤตสร้างโอกาสถ้าเราสร้างมุมมองในการแสวงหา
ผู้เขียนเองเคยมีโอกาสได้สัมผัสกับชีวิตของอาจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ผู้ที่เป็นอาจารย์ประจำที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เป็นคนตาบอดซึ่งเป็นคนพิการคนแรกที่เป็นข้าราชการคนแรกของประเทศไทยตลอดจนมีบทบาทสำคัญในการทำให้มีพระราชบัญญิติฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการตลอดจนได้ทุนภุมิพลไปเรียนจบปริญญาโททางกฎหมายจากมหาวิทยาลัย harvard ที่มีชื่อ รวมทั้งเขียนหนังสือ “สู้ชีวิต”ด้วยการยึดหลักเคราะห์สร้างโอกาส ผู้เขียนเองเคยเชิญอาจารย์วิริยะไปเล่าประสบการณ์ชีวิตโดยที่ท่านมีกรอบความคิดที่ว่าวิกฤตสร้างโอกาสเสมอข้อสำคัญขึ้นอยู่กับว่าเรามีมุมมองหรือกรอบความคิดในการแสวงหามันหรือซึ่งท่านเองสามารถจุดประกายในใจให้กับคนสมบูรณ์ครบ 32 แต่ไม่สู้ชีวิตให้ลุกขึ้นมาต่อสู้ชีวิตในยามวิกฤตใหม่ได้
ท่านเองในช่วงต้นของชีวิตเป็นเด็กหนุ่มที่มีความฝันและความหวังว่าอยากจะเป็นหมอ แต่ประสบอุบัติเหตุทำให้ตาทั้งสองข้างบอดลงซึ่งถ้าเปรียบฝันร้ายของอาจารย์กับยุคปัจจุบันคงจะร้ายแรงกว่าหลายเท่านัก ถ้าอาจารย์วิริยะปล่อยชีวิตไปตามยถากรรมแน่นอนที่สุดที่สังคมคงจะไม่ว่าอะไรถ้าอาจารย์จะเลือกเป็นขอทานหรือคนขายลอตตอรี่ซึ่งเมื่อหลายสิบปีที่แล้วนั่นเป็นอาชีพหลักที่หลายชีวิตยึดถือเป็นค่านิยมในการเลี้ยงชีพแต่อาจารย์วิริยะกลับมองต่างมุมและมีกรอบความคิดที่ว่าไม่ว่าโชคชะตาที่ผ่านมาจะกำหนดพื้นฐานชีวิตที่ผกผันให้ท่าน แต่ชีวิตในอนาคตท่านจะเป็นผู้กำหนดเองและท่านก็พลิกผันเคราะห์ในชีวิตของท่านไปสู่โอกาสทองนั่นก็คือความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็นที่ยอมรับในสังคมว่าคนตาบอดก็มีความสามารถไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนตาดี
เมื่ออาจารย์วิริยะประสบเคราะห์ท่านกลับหยุดคิดและตั้งสติในการกำหนดเป้าหมายของชีวิตใหม่ว่าควรจะมีเป้าหรือวิสัยทัศน์อะไรดีที่เป็นแรงบันดาลใจที่กล้าแข็งที่ทำให้ท่านผ่านวิกฤตและสร้างความมั่นใจในตัวเองมากยิ่งขึ้น ท่านกลับมาถามตัวเองว่าทำไมถึงอยากเป็นหมอ และท่านก็ถามว่าถ้าไม่เป็นหมอและจะทำอะไรดีจะเพราะตามยถากรรมคงจะมายึดอาชีพเป็นขอทานหรือกลายเป็นคนขายล็อตตอรี่ที่เก่งที่สุดเป็นแน่ ถ้าเหตุผลที่ท่านอยากเป็นหมอเพราะสามารถช่วยเหลือผู้อื่น ถ้าเช่นนั้นอาชีพเป็นแค่สถานะและความสามารถที่ไปถึงเป้าหมายที่ใหญ่กว่า ท่านจึงลิขิตเป้าหมายของท่านว่าอยากจะสร้างกฎหมายในเมืองไทยให้คนพิการมีสิทธิเท่าเทียมกับคนธรรมดา แต่การที่คนตาบอดจะทำให้คนตาดีเปลี่ยนกฎหมายได้จะต้องมีความสามารถให้ประจักษ์ นั่นทำให้ท่านแตกแกนวางแผนชีวิตในแต่ละขั้นตอนเพื่อสู้กับวิกฤตที่ท่านประสบโดยมิได้ย่อท้อต่อเคราะห์กรรม
เป้าหมายหรือวิสัยทัศน์เป็นตัวกระตุ้นให้อาจารย์วิริยะเกิดพลังในการพิชิตความสำเร็จที่ตั้งไว้ในใจ สิ่งที่อาจารย์ต้องการก็คือการวางแผนงานที่เป็นเสมือนเชือกที่ขึงทางเดินจากปัจจุบันไปหาอนาคตที่เราวางไว้ เพราะถ้าเราไม่มีการวางแผนที่เริ่มต้นจากก้าวแรกที่เด่นชัดแล้วเมื่อลมแรงและพายุมาแรง ลมสามารถที่จะพาเราออกไปนอกทิศทางที่เราเคยตั้งไว้และถ้าเราไม่สามารถจะบอกได้ว่าเราไปห่างจากที่เราวางแผนไว้เท่าไหร่เราอาจจะกลับไปสู่เป้าหมายของเราไม่ถูก
อาจารย์วิริยะวางแนวความคิดไว้ว่าคนตาบอดกับปริญญาทางกฎหมาย จากมหาวิทยาลัย Harvard คงจะทำให้คนตาดีเชื่อคำพูดได้และคงจะสามารถให้ท่านเป็นตัวั้งตัวตีในการแก้กฎหมายดังฝันที่วางไว้ได้ การประสบความสำเร็จในชีวิตมิใช่แค่การวางแผนอย่างเดียวเพราะภายใต้วิกฤตการณ์แล้วจำเป็นต้องกล้าที่จะเดินไปสู่เป้าหมายด้วยเพราะเมื่อก้าวแรกประสบความสำเร็จก้าวต่อไปก็จะง่ายขึ้นและจะเข้าไปหาเป้าหมายมากขึ้นทำให้เราเกิดความมั่นใจในการพิชิตเป้าหมายมากขึ้น Mission Impossible ที่อาจารย์ทำตั้งแต่สามารถเป็นคนตาบอดคนแรกในโรงเรียนอัสสัมชัญที่เรียนหนังสือและติวคนตาดีได้ การเปลี่ยนวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยสำหรับคนตาบอดเป็นครั้งแรก การจบเกียรตินิยมนิติศาสตร์บัณฑิต การเป็นอาจารย์ตาบอดคนแรกหรือการได้ทุนภูมิพลไปเรียนที่มหาวิทยาลัย harvard ที่มีชื่อเสียงทางกฎหมาย ผู้เขียนเองประจักษ์ดีถึงความมหัศจรรย์ของเรื่องราวของอาจารย์วิริยะที่สามารถเปลี่ยนกรอบความคิดของคนตาดีให้สู้ชีวิตต่อไปตลอดจนมีความมุ่งมั่นในการสร้างการก้าวกระโดดข้ามวิกฤตและพลิกผันให้เคราะห์กรรมนั้นกลายเป็นโอกาสทองในชีวิตขึ้นมา

  การบริหารความสมดุลย์ของกรอบความคิดเพื่อโลดแล่นกับกระแสการเปลี่ยนแปลง
การสร้างกรอบความคิดในการกำหนดภาพชีวิตของตนเองหรือองค์กรที่เราอยู่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับศูนย์ของความคิดให้เกิดความสมดุลย์กับธรรมชาติที่เกิดขึ้นรอบๆตัวเรา การเรียนรู้ในการปรับตัวนี้เป็นธรรมชาติของสิ่งที่มีชีวิตที่สร้างวงจรของการปรับตัวให้เกิดสมดุลย์ขึ้นมิเช่นนั้นก็อาจทำให้เกิดการสูญพันธ์เช่นไดโนเสาร์ในอดีต เราคงได้เรียนจากบทเรียนที่ผ่านมาจากอาจารย์วิริยะหรือคุณศิริวัฒน์แล้วว่าเราสามารถกำหนดเป้าหมายของชีวิตเองได้แต่การปรับกรอบความคิดนั้นจำเป็นต้องเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราพูดถึงกรอบความคิดขององค์กรก็มิได้ต่างอะไรจากกรอบความคิดของระดับบุคคลเพราะในแง่ขององค์กรแล้วผู้นำองค์กรมักจะเป็นผู้กำหนดกรอบความคิดในการฝ่าวิกฤตของแนวนโยบาย กลยุทธตลอดจนสินค้าและบริการที่องค์กรจะพัฒนาขึ้น
 ผู้เขียนเองเคยมีประสบการณ์มาในองค์กรข้ามชาติอย่าง IBM ซึ่งเคยมีการติดยึดกับกรอบความคิดที่มองเห็นว่าความคิดของตัวเองเป็นใหญ่แต่มิได้ปรับกรอบให้เข้ากับกระแสของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัวโดยเฉพาะการปรับโครงสร้างในธุรกิจคอมพิวเตอร์ที่คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กมีบทบาทมากขึ้น ในขณะที่ IBM ยังมีมีกรอบความคิดในการลงทุนในเครื่องขนาดใหญ่มากขึ้นซึ่งการยึดติดตรงนี้นำมาถึงมุ่งมั่นลงทุนในโครงสร้างที่ไม่เกิดรายได้ทำให้เกิดการขาดทุนมหาศาล แต่เมื่อผู้บริหารเน้นถึงความสำคัญในการปรับมุมมองในการการประสานความต้องการกับลูกค้าอย่างแท้จริงแล้วกระแสของความสมดุลย์เริ่มเกิดขึ้นผลกำไรและการประกอบการเริ่มไหลเข้ามาทำให้ปัจจุบันนี้ IBM กลายเป็นบริษัทที่มีกำไรสูงสุดอันดับหกในอเมริกาหลังจากการปรับความคิดในการมองนโยบายใหม่ให้ถูกต้องกับกระแสที่เปลี่ยนแปลงในระดับประเทศนั้นผู้นำในประเทศต่างๆที่ล้มลุกคลุกคลานและเป็นประเทศที่แพ้สงครามอย่างเยอรมนีญี่ปุ่นหรือแม้แต่ประเทศเม็กซิโกที่เกือบจะล้มละลายอย่างไม่เป็นท่า แต่ด้วยกรอบความคิดในการเข้ามาเพื่อปฏิรูปประเทศให้พ้นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ความแน่วแน่ตลอดจนความมุ่งมั่นในการแสดงออกถึงแนวทางและหลักการที่เด่นชัดและมีความจริงใจในการแก้ปัญหาของชาติ ดั่งเช่นประธานาธิบดีเซดิญโญของเม็กซิโกก็สามารถเข้ามาจัดการและวางสถาปัตย์ในการปฎิรูป แม้ต้องมีการผ่าตัดเพื่อความอยู่รอดไม่ว่าจะเป็นแปรรูปของรับวิสาหกิจหรือการปรับสภาพสมดุลที่แท้จริงของระบบการเงินและเศรษฐกิจ กรอบความคิดเปรียบเสมือนมุมมองที่สำคัญที่ถ้าผู้ที่ต้องเผชิญวิกฤตการณ์สามารถใช้เวลาในการหยุดพิจารณ์ไตร่ตรองหาความถูกต้อง เขาจะสามารถมีทางเลือกที่สร้างสรรค์ในการกำหนดเส้นทางเดินที่มีคุณค่าและความหมายที่ดีกว่าเดิมฝ่าวิกฤตดุจคำที่ว่า “เมื่อคนเปลี่ยนกรอบความคิดคนก็เปลี่ยนชีวิตทั้งชีวิต”
 

 
โดย อาจารย์กฤษณ์ รุยาพร  E-mail : kris@e-apic.com, Mobile 081-617-7785 
บทความได้รับการเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์


Home    l    About Us    l    Education Program    l    Consulting    l    Clients    l    Online Test
Books & Multi    l    Apic Leadership Review    l    Contact Us